การส่งออกทูน่ากระป๋อง 2565 และทูน่าแปรรูป อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 20%
2 กุมภาพันธ์ 2566
การส่งออกทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
มีปริมาณทั้งสิ้น 454,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,014.46 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ (69,827.76 ล้านบาท)
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.13 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.59
ตลาดหลัก
- สหรัฐอเมริกา
- ออสเตรเลีย
- ญี่ปุ่น
- อียิปต์
- ลิเบีย
รวมกันคิดเป็นสัดส่วน (ร้อยละ 56.06)
ตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง
- ลิเบีย (ร้อยละ 109.87)
- คูเวต (ร้อยละ 81.64)
- อิสราเอล (ร้อยละ 69.77)
จุดแข็งของไทย
1. มีความพร้อมด้านทักษะฝีมือ และ เทคโนโลยีการผลิตที่ครบวงจร ได้มาตรฐานสากล
สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ในการรับซื้อปลาทูน่าไทย จากทั่วโลก
3. ผู้ประกอบการมีเครือข่ายครอบคลุม ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดสำคัญ
ปัญหาและอุปสรรค
- ขาดแคลนแรงงาน
- มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านแรงงาน มาตรการด้านภาษี ฯลฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประเทศคู่แข่งมากกว่าไทย
- การออกเอกสารรับรองเกี่ยวกับการส่งออกใช้เวลานาน ทำให้การส่งออกล่าช้า
- การนำเสนอข่าวเชิงลบส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในสินค้าประมงจากไทย
- กระแสนิยมบริโภคอาหาร เพื่อสุขภาพทำให้มีการบริโภคอาหารกระป๋องและแปรรูปลดลง
- การแพร่ระบาดของเชื้อ ไวรัส COVID-19 ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อ และชะลอการส่งมอบสินค้า
กลยุทธ์
- ส่งเสริมระบบการตรวจสอบคุณภาพ และ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมแปรรูป สัตว์น้ำเบื้องต้นเพื่อให้มีคุณภาพสุขอนามัย ตามมาตรฐานสากล
- ดำเนินงานตามข้อกำหนดของลูกค้าและตลาดเป้าหมาย อย่างเคร่งครัด
- ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP)
- เร่งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสนับสนุนให้ใช้ วัตถุดิบที่มีเอกสารรับรองการจับสัตว์น้ำ และมาจากแหล่งที่ไม่มีปัญหาการทำประมง IUU
- ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาด รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ ในอุตสาหกรรมแปรรูปทูน่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ขยายสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และขยายฐานการผลิตไปยังตลาดหลัก เพื่อประโยชน์ทางด้านต้นทุนทางภาษีและโลจิสติกส์ รวมถึงลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- เจรจาแก้ไข และลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งด้านภาษี และมิใช่ ภาษีในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี
- จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทย ที่เป็นรูปธรรม
การส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง
ปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง คือ ปลาทูน่า (ตระกูลทูนนัส) หรือปลาสคิปแจ็ก (ปลาโอท้องแถบ) หรือปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) ทั้งตัวหรือเป็นชิ้น
โดยไม่บด ที่บรรจุในกระป๋องอากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 1604.14.11 และ 1604.14.19
ขั้นตอนการดำเนินการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง
- ตรวจสอบสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศตามข้อตกลงทางการค้า และขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
- ลงทะเบียนขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า เพื่อใช้ยื่น และรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เช่น Form D, Form E, Form JTEPA, Form C/O ทั่วไป ฯลฯ ตามที่ผู้นำเข้าต้องการ ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศสนามบินน้ำ นนทบุรี โดยลงทะเบียนขอ User Name กลาง ได้ที่ www.dft.go.th
- ผู้ส่งออกตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดสินค้า (ตรวจต้นทุนการผลิต) เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร
- ตรวจสอบกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า และ ขอใบอนุญาต /ใบรับรองจากหน่วยงานที่ควบคุมหรือที่เกี่ยวข้องตามที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง
กรมการค้าต่างประเทศ
ระเบียบและหลักเกณฑ์
- กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
- ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่นำปลาทูน่าบรรจุกระป๋องติดตัวออกไป หรือนำออกไปพร้อมยานพาหนะ เพื่อใช้ในการบริโภคในยานพาหนะนั้น หรือกรณีนำออกไปเพื่อเป็นตัวอย่างหรือการศึกษาวิจัย ทั้งนี้สามารถนำออกไปได้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น
กรมศุลกากร
- ลงทะเบียนเป็นผู้พิธีการศุลการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Paperless)
- ส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร (e-Export)
- ตรวจสอบและขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจากกรมศุลกากร เช่น การขอคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากร,
ขอคืนอากรตามมาตรา 19ทวิ, คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเขตประกอบการเสรี หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
กรมประมง
- ลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ Fisheries Single Window (FSW) โดยยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจประมงหรือกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต (กรมประมง เกษตรกลาง) ได้รับชื่อผู้ใช้รหัสลับ
- ขอใบอนุญาตผ่านระบบ FSW
- แจ้งตรวจสินค้าผ่านระบบ FSW เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสินค้าก่อนการส่งออก
สถาบันมาตรฐานอุตสาหกรรม
ขอใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ทั่วไป) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale) จากสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล และ ขอใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อการส่งออก
ที่มาแหล่งข้อมูล : DITP กระทรวงพาณิช
--------------------------
ติดต่อสอบถามบริการ BTL
02-681-2005 ถึง 9