การส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ในยุค Covid-19
15 มิถุนายน 2564
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 สินค้าเกษตรยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน
จากต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีนแล้วกว่า 532,262 ตัน รวมมูลค่า 34,453 ล้านบาท โดยส่งออกทุเรียนมากที่สุด จำนวน 193,778 ตัน มูลค่า 23,585 ล้านบาท
พร้อมควบคุมเข้มงวดในการเฝ้าระวังเชื้อ Covid-19 ไม่ให้ติดไปกับผลไม้ เนื่องจากประเทศจีนมีมาตรการเข้มงวดหนัก และปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการปนเปื้อนในการคัดบรรจุอย่างเคร่งครัด
โดยที่ผ่านมาจีนยังไม่เคยตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรจากไทย
ข้อมูลการนำเข้าผลไม้ในประเทศจีน
- ในปี 2020 ประเทศจีน เป็นประเทศที่นำเข้าผลไม้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
- จีนนำเข้าผลไม้จากทั่วโลกรวมเป็นมูลค่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าจากประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 33.45%)
- จีนนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย รวมเป็นมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- สัดส่วนการนำเข้าผลไม้ไทยไปจีน อันดับ 1 คือทุเรียนสด คิดเป็นร้อยละ 48% รองลงมาคือมังคุดสดและแห้ง ร้อยละ 22%, ลำใยสด 11%, มะพร้าว 6% และอื่นๆ
- ผลไม้ไทย 22 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้า ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะพร้าว ลำใย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ส้มเขียวหวาน ส้ม และ ส้มโอ
เงื่อนไขการส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศจีน
- ปราศจากศัตรูพืชควบคุมของจีน
- ไม่มียาฆ่าแมลงและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานของจีน
- ลำใยต้องมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม
- ต้องได้รับการกำจัดศัตรูพืช และบรรจุด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสมภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC: Phytosanitary Certificate) กำกับไปด้วยทุกครั้ง
- ผลไม้ 10 ชนิด ที่ส่งออกจากไทยต้องมาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรอง GAP และโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง GMP และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรของไทย และหน่วยงานของจีนก่อนการส่งออก
จากการนำเข้าผลไม้ไทยในสัดส่วนที่สูงมากในจีน ทำให้ต้องตระหนักถึงการรักษาคุณภาพและปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เพราะนี่คือ “โอกาส” สำคัญ ที่ไทยได้มีศักยภาพเหนือประเทศคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
แหล่งข้อมูล: Global Trade Atlas