บทความที่เป็นประโยชน์

เชียงของ โลจิสติกส์ E-Commerce ฮับแห่งใหม่เชื่อมไทย ลาว จีน

17 พฤษภาคม 2564

เชียงของ

อนาคตสดใสหลังโควิด กระทรวงคมนาคมเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ บนเส้นทางการค้าพื้นที่เชียงของ เพื่อยกระดับให้เป็นโลจิสติกส์ซิตี้ของภูมิภาค ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านตลอดเส้นทาง ไทย ลาว จีน โดยโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ระยะแรก จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 นี้ และสร้างต่อเฟส 2 ให้แล้วเสร็จในปี 68

โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จะรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล พร้อมแผนการขนส่งสินค้าจากทางถนนสู่ระบบราง ตามแผนการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย เชียงราย เชียงของ

หนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน

ตั้งแต่ปี 2558 ที่ทางรัฐได้พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร เพื่อช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้ โดยมีขั้นตอนต่อจากนี้ คือ การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ โดยกระทรวงพาณิชย์

เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ

  1. เชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC)
  2. ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญเช่น อ.เชียงของ บ้านห้วยทราย บ่อเต็น บ่อหาน และคุณหมิง) และเขตการค้าเสรีคุณหมิง
  3. ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรป ในอนาคตต่อไป

โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของระยะแรก และระยะที่ 2 ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว โดยมีบริเวณของโครงการอยู่ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ

โครงการระยะที่ 2 นั้น เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแผนจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ไทยจะได้รับ ได้แก่สินค้าต่อไปนี้ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ

สำหรับผู้ประกอบการไทยในรายการสินค้าดังกล่าว ควรรีบตื่นตัวและติดตามความคืบหน้าของโครงการ เพื่อไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจ

 

แหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ