คืบหน้า โครงการ Land Bridge ระนอง-ชุมพร เชื่อม 2 มหาสมุทร
25 มีนาคม 2564
โครงการ แลนด์บริดจ์ - สินค้า 1 ใน 4 ของโลก ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา
เป็นโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์เพื่อเชื่อม 2 ฝั่งทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน แทนช่องแคบมะละกาที่แออัดมากในปัจจุบัน และเมื่อโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้าและการลงทุน ไม่เพียงประเทศไทย หรือในภูมิภาค แต่เรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้า และการลงทุนของโลกเลยก็ว่าได้
สำหรับโครงการ Land Bridge คือ โครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ลงทุนโดยรัฐและเอกชน (Southern Economic Corridor: SEC) โดยเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน พร้อมสร้างรางรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึก 2 จุด ในจังหวัดระนองและท่าเรือ ชุมพร ระยะทาง 109 กิโลเมตร เป็นจำนวนเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท
จากความเดิมปีที่แล้ว (พ.ศ.2563)
รัฐอนุมัติงบประมาณเพื่อการสำรวจการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง มาแล้วกว่า 75 ล้านบาท ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกมีการพิจารณาการก่อสร้าง 2 วิธีได้แก่ การพัฒนาท่าเรือเดิมที่มีอยู่ และการสร้างท่าเรือใหม่ด้วยการถมทะเล ซึ่งจะต้องประเมินการลงทุนและผลกระทบด้วย โดยจะชัดเจนและได้ข้อสรุปภายในปี พ.ศ.2564 และอีกกว่า 90 ล้านบาทสำหรับการสำรวจเส้นทางรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง รวมถึงเส้นทางเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC โดยทั้งหมดนี้จะได้ข้อสรุปภายในปี 2565
ความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ : เซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารายละเอียด และทำ EIA
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เดินหน้าโครงการ Land Bridge โดยนายศักดิ์สยามได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา เพื่อการศึกษารายละเอียดทั้งด้านการออกแบบ การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
การขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบันประสบปัญหาด้านความหนาแน่นของปริมาณเรือสูง และจะเต็มศักยภาพการรองรับในปี 2567 และจะหนาแน่นเพิ่มอีก 4 เท่าในปี 2593
หากโครงการแล้วเสร็จ แลนด์บริดจ์จะเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งจากปัจจุบันที่อ้อมระยะไกลผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์ มาผ่านแลนด์บริดจ์จากท่าเรือระนอง-ท่าเรือ ชุมพรแทน ซึ่งลดระยะเวลาการขนส่งลงได้ถึง 2 วัน
รายละเอียดการศึกษาโครงการ Land Bridge Thailand
ได้รวบรวมการศึกษา 3 ส่วนหลักเข้ามาในโครงการเดียวกัน ได้แก่
- ทางเรือ (ท่าเรือชุมพร / ท่าเรือระนองปัจจุบัน / ท่าเรือระนองใหม่ / ลองร่องน้ำระนอง)
- ทางถนน (มอเตอร์เวย์ระนอง-ชุมพร)
- ทางราง (ทางรถไฟสายใหม่ระนอง-ชุมพร)
- ทางท่อ (ท่อส่งน้ำมันเชื่อมระนอง-ชุมพร)
ในส่วนของการออกแบบท่าเรือ จะเป็นในรูปแบบ Smart Port มีการควบคุมด้วยระบบออโตเมชั่น รวมถึงการพัฒนา Motorway, รถไฟทางคู่ และระบบขนส่งทางท่อ ก่อสร้างไปพร้อมๆ กัน ด้วยเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจากการลงทุนดังกล่าวนี้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
แหล่งที่มา: