ขยายฐานการค้า-การลงทุนไทย ผ่านความตกลง RCEP 2565 นี้
25 กุมภาพันธ์ 2564
อาจเป็น #ข่าวดี การลงทุนไทย สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และกลุ่มภาคบริการ/นักลงทุน จากการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) หรืออาร์เซ็ป
จากความเห็นชอบโดยรัฐสภา ในการให้สัตยาบันในการเข้าร่วมอาร์เซ็ป จะมีการนำสาระสำคัญโดยสมบูรณ์มาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย
โดยจะมี 3 หน่วยงานที่ต้องดำเนินการปรับกฎระเบียบข้อบังคับ และกฎหมายให้สอดคล้องกับความตกลง RCEP ได้แก่
- กระทรวงการคลัง (ปรับอัตราพิกัดศุลกากร จาก HS 2012 เป็น 2017 พร้อมลดเลิกอัตราภาษีศุลกรกร)
- กระทรวงพาณิชย์ (ออกแบบฟอร์มระเบียบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและเงื่อนไขการนำเข้า โดยเปิดให้เลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบจากประเทศนอกอาร์เซ็ปได้อีกด้วย)
- กระทรวงอุตสาหกรรม (กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้ไทยสามารถเปิดตลาดชิ้นส่วนบางรายการได้)
การดำเนินการดังกล่าวอาจใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน เพื่อออกหนังสือการให้สัตยาบันและนำไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนต่อไป
คาดว่าผลการหารือจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับ ได้แก่
- กลุ่มผู้ประกอบการเกษตร - จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับการลด หรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจากไทย ซึ่งเป็นผลดีกับสินค้าการเกษตรของไทย โดยสินค้าดังกล่าว ได้แก่ ผักผลไม้ทั้งแปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันจากพืช อาหารแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง และสินค้าประมง
- กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม - ได้ประโยชน์กันทั้งผู้นำเข้าและส่งออก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เป็นต้น
- กลุ่มภาคบริการ / นักลงทุน – เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุนในตลาด RCEP โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น ในด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว การก่อสร้าง รวมถึงเกมออนไลน์ โดยสามารถถือหุ้นได้ 100% และในทางกลับกัน สมาชิก RCEP ก็สามารถเข้ามาลงทุนในไทยได้เช่นกัน ได้แก่ ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เนื่องจากเศรษฐกิจไทย ยังต้องการการกระตุ้นเพื่อให้ฟื้นตัวและเติบโต โดยการส่งออกเป็นส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อขยายฐานการส่งออก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวถึงการเตรียมการเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership : CPTPP) อย่างต่อเนื่อง
แม้จะต้องใช้เวลานาน แต่จะเกิดผลบวก และสร้างโอกาสให้กับสินค้าและการลงทุนของไทยได้มากขึ้นในอนาคต
แหล่งข้อมูล: