บทความที่เป็นประโยชน์

ส่งออกผ่านแดนรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ผ่านด่านหนองคายขยายตัวเพิ่มขึ้น 4 เท่า

15 กุมภาพันธ์ 2567

รถไฟความเร็วสูงจีน

ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ได้ขยายระยะทางขนส่งผู้โดยสารข้ามประเทศจากนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ถึงนครคุนหมิงของจีนผ่านด่านหนองคาย จากช่วงแรกที่ให้บริการเฉพาะภายในลาวเท่านั้น ส่งผลให้สามารถขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างจีน ลาว และไทยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายการค้าการลงทุนในจีนและลาว รวมถึงโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่มีแนวโน้มเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น

จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ด้วยสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส การส่งออกผ่านแดนไปจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวผ่านด่านหนองคายในปี 2566 มูลค่าการส่งออกรวมเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว

โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด อาทิ ผลไม้อื่นๆ สด น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันที่ได้จากแร่บิทูมินัส เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคล น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม ของที่ใช้บรรจุสินค้าทำด้วยพลาสติก เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด อาทิ พลังงานไฟฟ้า ธาตุเคมีที่โด๊ปแล้วสำหรับใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ไฮโดรเจน แร่ก๊าซและอโลหะอื่นๆ ปุ๋ยที่ได้จากแร่หรือปุ๋ยเคมี สายนาฬิกาของนาฬิกาชนิดวอตช์และส่วนประกอบ หลอด ท่อและโพรไฟล์กลวงอื่นๆ เครื่องโทรศัพท์ สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์ เป็นต้น

ตัวอย่างสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกผ่านรถไฟสูงสุด 3 อันดับแรก  (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2566) คือ ทุเรียน เม็ดพลาสติก และมังคุด สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าผ่านรถไฟสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ปุ๋ย ผักสด และพัดลม มอเตอร์  และในปี 2573 คาดการณ์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.7 หมื่นล้านบาท  แนวโน้มสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวสูง อาทิ ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ข้าว สำหรับตลาด สปป. ลาว ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวชาวจีน จากมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และ 4 พื้นที่ใกล้เคียง สามารถเดินทางถึงกันได้ทางรถไฟ ได้แก่ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยร้อยละ 1 หรือราว 2.5 ล้านคน จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยราว 4,685 ล้านบาทต่อปี

แรงหนุนจากรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนและลาว 3 ด้านหลัก คือ ด้านการค้า สินค้าไทยที่มีศักยภาพ เช่น ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

สำหรับด้านการบริการอย่างธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งและ Logistics จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในขณะที่ด้านการลงทุนภาครัฐจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งมีโอกาสดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากลาวมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ            

ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนในจีนและลาวในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการซื้อขายสินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ผักและผลไม้เมืองหนาว เป็นต้น

ศักยภาพของตลาดจีนและลาวสามารถรองรับความต้องการสินค้าและบริการได้อีกมากในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ทิศทางของเทรนด์สินค้าในตลาดจีนและลาวที่มีแนวโน้มเติบโต ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการค้าและบริการระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

 

ที่มาแหล่งข้อมูล : Thai PBS / ข่าวออนไลน์ 7HD

--------------------------

ติดต่อสอบถามบริการ BTL 

02-681-2005ถึง9 

www.bkkterminal.com 

m.me/BangkokTerminalLogistics 

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ