ส่งออกไปต่างประเทศ 9 เดือนขยายตัว 7.8% มูลค่า 2.49 หมื่นล้านดอลลาร์
1 พฤศจิกายน 2565
ส่งออกไปต่างประเทศ 9 เดือนขยายตัว 7.8% มูลค่า 2.49 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมสัญญาณบวกโตตามเป้าปี65
กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ 7.8% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.49 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8.88 แสนล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้ 10.6% คิดเป็นมูลค่า 2.21 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 7.52 ล้านล้านบาท
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.6% และ 9 เดือน มีมูลค่า 2.36 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนกันยายนขาดดุล 853 ล้านดอลลาร์ และ 9 เดือน ขาดดุล 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หากจำแนกดูตามหมวดสินค้าพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 2.7% คิดเป็นมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.18 หมื่นล้านบาท สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป ข้าว และยางพารา
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ 0.8% คิดเป็นมูลค่าราว 1.73 พันล้านดอลลาร์ หรือ 7.25 หมื่นล้านบาท โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ไอศกรีม อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 9.4% คิดเป็นมูลค่า 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.21 แสนล้านบาท มีรายการสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่ายังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย
ทั้งนี้นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลงานสำคัญของกรมการค้าต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ให้สอดคล้องกับบริบทการค้าโลกยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยให้เติบโต รวมถึงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวและผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีผลงานสำคัญ 10 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านการค้าชายแดน มีการผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนฝั่งไทยเพิ่มอีก 24 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง และประเทศเพื่อนบ้านเปิด 57 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนให้เกิดกิจกรรมทางการค้าและการลงทุน
โดยเป้าหมายการส่งออกชายแดนรวมและผ่านแดนรวม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5 หรือมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบจากปี2564 มูลค่าการค้าชายแดนรวม 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค. 65) 618,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.63 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 376,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 มูลค่าการนำเข้า 242,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.87 และได้ดุลการค้า 133,542 ล้านบาท
สินค้าข้าว โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 20 ก.ย. 65:) การส่งออกมีปริมาณ 5.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.46 มูลค่าการส่งออก 93,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.11
ทั้งนี้ กรมฯ ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ปรับเป้าส่งออกข้าวไทยในปี 2565 จาก 7 ล้านตัน เป็น 7.5 ล้านตัน
สินค้ามันสำปะหลัง กรมฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการส่งออก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ตลาดส่งออกมีเสถียรภาพส่งผลดีกับราคามันสำปะหลังทั้งระบบ นอกจากนี้ได้ร่วมกันจัดทำแผนการขยายตลาดปี 2565/66 ได้แก่ (1) ตลาดเดิม : จีน (2) ตลาดเก่า : ยุโรป และ (3) ตลาดใหม่ : ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยในช่วง 8 เดือนแรก ปี2565 ไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังแล้วปริมาณ 8.10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,112.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะส่งออกสินค้ามันสำปะหลังได้ 11 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งเป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 15 ปี
ด้านสินค้าเกษตรนวัตกรรม มีการผลักดันผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมกว่า 300 ราย ผ่านกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทย ก่อให้เกิดมูลค่าการค้า รวมทั้งสิ้น 43 ล้านบาท
สิทธิประโยชน์ทางการค้า มีการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs และ GSP โดยจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs มีมูลค่ารวม 49,900.11 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 80.98 การใช้สิทธิประโยชน์จาก GSP มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 2,194.73 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 56.59
มาตรฐานสินค้าส่งออก กรมฯ ได้พัฒนาระบบ “จ่ายปุ๊บ ต่อปั๊บ” หรือ ระบบชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบทะเบียนผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานและใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า แทนการยื่นคำขอ
พร้อมปรับปรุงและออกข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยอย่างแท้จริง
มาตรการทางการค้า ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือ TCWMD ผ่านโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) และโครงการ
บ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) ที่อบรมผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 134 ราย
การพัฒนาระบบบริการ โดยการยกระดับบริการดิจิทัล อาทิ SMART-I และ SMART C/O ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกรมฯ ทำให้ช่วยลดการเรียกเอกสารประกอบการพิจารณา และสามารถให้บริการแบบ No visit ในรูปแบบ Paperless คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการค้าให้ผู้ประกอบการได้กว่า 480 ล้านบาท ต่อปี
การแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ กรมฯ ได้มีการติดตามตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวผลอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 ได้มีหนังสือถึงผู้นำเข้ามะพร้าวผลและประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำเตือนให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามมาตรการการนำเข้าอย่างเข้มงวด
การป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า กรมฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป โดยกำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังจำนวน 42 รายการ และผู้ส่งออกต้องมีผลการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าหรือตรวจต้นทุนของสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าว ประกอบการขอ Form C/O ทั่วไป
นอกจากนี้ กรมฯ จับมือกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ กรมศุลกากร โดยกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสำหรับสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Non-Preferential ROO) การถูกตรวจสอบย้อนหลังโดยศุลกากรประเทศปลายทาง
การจัดทำทะเบียนการนำเข้าสินค้าที่ถูกพิจารณาการไต่สวน AC แนวทางปฏิบัติของศุลกากรตามประกาศมาตรการ Catch-all Control (CAC) การเชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ของกรมศุลกากรเข้ากับระบบ CIC BTS ของกรมฯ
ข้อมูลสถิติการค้าชายแดนรายด่าน (จุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนการค้า) EXIM BANK ร่วมกับกรมฯ จัดโครงการจับคู่กู้เงิน ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 1,184 ราย วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 5870.8 ล้านบาท และจัดทำ MOU ความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย และร่วมกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าเฝ้าระวัง 42 รายการ
ที่มา : กรมการค้าระหว่างประเทศ
: THE STANDARD WEALTH
----------------------------
ติดต่อสอบถามบริการ BTL
02-681-2005ถึง9
www.bkkterminal.com
m.me/BangkokTerminalLogistics