เส้นทางรถไฟจีน ลาว จากนครหลวงเวียงจันทน์-คุนหมิง ดันส่งออกปี 65
15 ธันวาคม 2564
รถไฟจีน ลาว ดันส่งออกปี 65
หลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากนครหลวงเวียงจันทน์-คุนหมิง ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การค้าชายแดน และการค้าข้ามพรมแดนกลับมาคึกคักมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 ยอดค้าชายแดนไทย-ลาวมีมูลค่า 62,481 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.75% โดยไทยส่งออก 53,005.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37.79% และนำเข้า 9,476.40 ล้านบาท หรือลดลง 21.18%
ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 43,529.14 ล้านบาท จากยอดค้าชายแดน และค้าผ่านแดนภาพรวมของไทยที่มีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 31.72% และคาดว่าทั้งปีนี้จะขยายตัวถึง 30% มีแนวโน้มจะดีต่อเนื่องถึงปี 2565 มีโอกาสจะเติบโต 6-8%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยได้สั่งการไปแล้วว่า ต้องการจะให้ประเทศไทยสามารถใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนให้เป็นประโยชน์ที่สุด
นอกจากการเดินทางของคนไทยแล้ว หากสามารถดำเนินการเรื่องของการค้าชายแดน และข้ามแดนได้จะให้เร่งทำ โดยจะนับ 1 จากการที่จะเชิญผู้ส่งออก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) มาหารือกันที่ จ.หนองคาย เพื่อประเมินว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
ขณะที่ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะจัดประชุมที่จังหวัดหนองคายในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ โดย “หนองคาย” จะเป็นจุดเชื่อมต่อหลัก เพื่อไปใช้ประโยชน์เส้นทางผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 โดยล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยกำลังเจรจากับหน่วยงานของจีน เพื่อจะทำ MOU อำนวยความสะดวกให้สินค้าไทย รถไฟจะช่วยลดต้นทุนเรื่องการขนส่งจากคุนหมิงมาถึงหนองคาย ใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากเดิมถ้าใช้รถก็จะใช้เวลาจากคุนหมิงมาถึงเชียงรายถึง 2 วัน ส่วนการท่องเที่ยวก็จะเติบโตพร้อมกับรถไฟ นักท่องเที่ยวจีน-ลาวจะเดินทางมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งปีหน้าลาวมีแผนจะเปิดประเทศจะช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ เช่น กลุ่มบริการสุขภาพ, กลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มสถานศึกษา
ทางด้านนายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ กล่าวว่า ได้ติดตามการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าจีนตรงทาง “ด่านโม่ฮาน” ฝ่ายลาวสามารถให้บริการได้ คือ งานด้านการตรวจสอบ, การตรวจโรคพืช, งานด้านศุลกากร
ในขณะที่งานด้านสินค้าโดยเฉพาะสินค้า 8 กลุ่มสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง, ธัญพืช, ผลไม้, สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค, ต้นกล้า, ไม้ซุง และสินค้าสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง ทางจีนยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยผู้ส่งออกไทยจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้ทันที โดยเฉพาะ “ผักและผลไม้” ที่สามารถขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศจีนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ด้าน ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ประเมินเบื้องต้นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบรางนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ 67% ส่งผลดีต่อต้นทุนสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งในปี 2565 หากการใช้รถไฟเริ่มลงตัวแล้วก็มีโอกาสที่การค้าไทย-ลาวจะเติบโต 15% ไม่นับรวมการค้าผ่านแดนไปจีน อีกทั้ง “เรายังไม่ตกขบวน” แต่อาจช้าอยู่บ้าง ในด้านการเตรียมการขนส่งระบบราง โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งที่ 2 ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วเพื่อลดปัญหา missing linkเพราะการก่อสร้างจะใช้เวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมามีการหารือทั้ง 3 ประเทศ ไทย-ลาว-จีนแล้ว ดร.จตุรงค์กล่าว
นายสุรชัย วิชาชัย ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า เท่าที่ประเมินหลังเปิดเดินรถไฟลาว-จีนมาได้ 1 สัปดาห์พบว่าจีนส่งสินค้าผักเข้ามา 33 ตู้ในสัปดาห์แรก และแนวโน้มจะมาเพิ่มอีก 40 ตู้ ในสัปดาห์ที่ 2 ขณะที่ด้านส่งออก จีนกำหนดเปิดนำเข้าสินค้า 3 กลุ่มในช่วงแรก คือ ยาง, มันสำปะหลัง และสินแร่ ส่วนสินค้าเกษตร-ผักผลไม้ของไทย ต้องส่งผ่านทาง “ด่านโม่ฮาน-บ่อเต็น” ซึ่งทางจีนกำหนดให้เป็นไปตามพิธีสาร 22 รายการ นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564
ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทที่เป็นสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป “ยังไม่สามารถส่งเข้าไปได้” พร้อมทั้งการเร่งผลักดันให้มีการเพิ่มจำนวนด่าน 2 แห่ง คือ ด่านหนองคาย-ท่าสะเด็จ กับจุดผ่อนปรนบ้านหม้อ ซึ่งมีการส่งออกปีละหลายพันล้านบาท
แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------
ติดต่อสอบถามบริการ BTL
02-681-2005ถึง9
www.bkkterminal.com
m.me/BangkokTerminalLogistics