Cross Border e-Commerce ช่องทางสำหรับ SME ไทย ที่อยากลองตลาดจีน
19 ตุลาคม 2564
Cross-Border e-Commerce ช่องทางสำหรับ SME ไทย ที่อยากลองตลาดจีน...
สถานการณ์ แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไป รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน ที่มีการซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ e-Commerce โดยเฉพาะ Cross-Border e-Commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากสถิติพบว่าตั้งแต่ปี 2558 – 2563 ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในประเทศจีน หันมาใช้ช่องทาง Cross-Border e-Commerce มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี สำหรับมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce ในปี 2563 นั้น คิดเป็นร้อยละ 38.86 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมด
ในปี 2564 ครึ่งปีแรก ขนาดตลาดของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนมีมูลค่า 6.05 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 33.48 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด และคาดว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 14.6 ล้านล้านหยวน
Cross-Border e-Commerce อาจเป็นแนวทางการตลาดที่ยังใหม่อยู่สำหรับ SME ไทย เพราะจะแตกต่างจากการนำเข้าแบบทั่วไป แต่ถ้าให้อธิบายแบบกระชับ Cross-Border คือ เป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone)
โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าที่สะดวก และใช้เอกสารน้อยกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป (General Trade)
การนำเข้าแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้ลองตลาดจีน ก่อนจะนำสินค้าไปขายจริง เนื่องจากวิธีนี้ช่วยลดความยุ่งยาก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่างๆ หมดปัญหาเรื่องสินค้าขายไม่หมด เก็บสต็อกจนหมดอายุ เน่าเสีย และหากสินค้าของคุณประสบความสำเร็จในตลาดจีน
ในอนาคตสามารถเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าแบบปกติ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และสามารถขยายช่องทางการขายจากแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce สู่ช่องทางออนไลน์อื่น ๆ หรือช่องทางออฟไลน์ เช่น เปิดหน้าร้านเป็นแบรนด์ของตัวเอง หรือนำสินค้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้สินค้าของท่านเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลจาก iiMedia Research เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่า แพลตฟอร์ม Tmall Global, Kaoka.com, Jingdong International และ Suninginternationnal เป็น 4 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในจีน
แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีข้อควรคำนึงถึงเช่นกัน โดยเฉพาะ Tmall Global ที่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านสูงมาก (เก็บค่าบริการรายปี 30,000 – 60,000 หยวน และเก็บค่ามัดจำเริ่มต้นตั้งแต่ 50,000 หยวนขึ้นไป โดยคิดตามประเภทสินค้าและประเภทของร้าน) จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทย ที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Pinduoduo, Kuaishou และ Tiktok แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่มีข้อดีคือ มีต้นทุนค่าเปิดร้านไม่สูงมากนัก และมีความโดดเด่นที่ต่างกันไป ผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองขายสินค้าไปยังตลาดจีน สามารถเลือกใช้บริการเพื่อให้เหมาะกับสินค้าของตนได้
- Pinduoduo เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าราคาประหยัด มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจคือ เมื่อซื้อสินค้าพร้อมเพื่อน จะได้ราคาที่ประหยัดกว่า เปรียบเสมือนการให้ผู้ซื้อช่วยโฆษณาสินค้าให้ จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ในปี 2563 มีผู้ใช้งานจำนวน 788.4 ล้านคน (ประมาณ 11 เท่าของจำนวนประชากรไทย)
- Kuaishou และ Tiktok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่สามารถขายสินค้าผ่านการ Livestreaming หรือแนบลิงก์สินค้าไว้กับวิดีโอสั้น เมื่อผู้ชมชมวิดีโอสั้น แล้วถูกใจสินค้าก็สามารถกดลิ้งก์ เพื่อซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
Cross-Border e-Commerce หรือช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนนั้น จะช่วยลดจำนวนพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการสามารถกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในจีนได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรต่อชิ้นสินค้าให้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยลดความยุ่งยากในการนำสินค้าเข้าจีน อาทิ การจด FDA และการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า
โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง และสินค้าออร์แกนิก ที่การนำเข้าปกติ หรือ General Trading มีระเบียบข้อกำหนดการนำเข้าและมาตรการต้านความปลอดภัยของสินค้าที่เข้มงวดมาก และการนำเข้าผ่านช่องทางปกติจำเป็นต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนการนำเข้า ทำให้เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสทางการค้า
ยังมีอีกหนึ่งความน่าสนใจที่ผู้ประกอบการ SME ไทย ควรพิจารณา ก้าวสู่ Cross-Border e-Commerce คือข้อมูลศุลกากรจีนได้เผยสถิติในปี 2563 ว่าจีนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce มูลค่า 2,172.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 129.8 มูลค่าการเติบโตติดอันดับที่ 4 (รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น) เป็นยุคที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมหันมาบริโภคสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย
ดังนั้นผู้ประกอบการอาจพิจารณาส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce เพื่อลองตลาดจีนก่อนว่าสินค้าของท่านได้รับความนิยมหรือไม่ ซึ่งจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป และยังสามารถช่วยปูทางในการขยายฐานลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมเปิดหน้าร้านในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐาน / หลักการทั่วไป
ผู้ประกอบการควรเลือกบริษัทคู่ค้า/บริษัทขนส่งที่น่าเชื่อถือ และศึกษากฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อกำหนดในแต่ละพื้นที่ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ
แหล่งอ้างอิง : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู