RCEP ได้รับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จากสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ
26 เมษายน 2564
RCEP ได้รับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จากสมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อันได้แก่ 10 ชาติอาเซียน และ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 เป็นที่เรียบร้อย หลังจากใช้ความพยายามกว่า 8 ปี ในการเจรจาข้อตกลงร่วมกัน ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ RCEP คิดเป็น 30% ของ GDP โลก โดยมีสิงคโปร์ได้เป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา
RCEP ต่างจาก FTA เดิม อย่างไร?
RCEP คือ เป็นเสมือนข้อตกลงที่ปรับ FTA ของแต่ละคู่ประเทศมารวมอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน มีความครอบคลุม ทันสมัย และลึกยิ่งขึ้น เช่น การตกลงลดภาษี 65% ของสินค้าทั้งหมดที่ขายในกลุ่ม RCEP เหลือ 0% ทันที และอีก 20% จะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในระยะเวลา 10 ปี (ยกเว้นกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในทันที แล้วจึงทยอยลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี)
ผลประโยชน์ที่ประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV จะได้รับ (แม้ความตกลงดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากกว่า)
ทุกประเทศได้รับการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ซึ่งต่างจากมาตรการลดภาษี และมีข้อบทใหม่ คือการทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค จากเดิมที่ครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น
กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จึงช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคได้มากขึ้น โดยเฉพาะ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น และด้วยค่าแรงที่ต่ำ อาจได้รับการจ้างแรงงานจากกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทย ที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์น้อยกว่ากัมพูชา ลาว และเมียนมา แต่ก็ยังถือว่าได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก FTA เดิม เป็นส่วนเพิ่มในสินค้าที่ FTA เดิมไม่ครอบคลุม
ภายใต้ข้อตกลง RCEP นี้ จะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าเดิมได้มากขึ้น โดยสินค้าไทยมากกว่า 90% จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสส่งออกไปยังตลาดสำคัญ โดยเฉพาะ จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น
โดยมีผลไปถึงผู้ประกอบการ SMEs และภาคการเกษตรด้วย โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ
โดยเพิ่มทางเลือกในการเลือกใช้วัตถุดิบจากประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปในตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ช่วยลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ และในส่วนผลดีด้านการลงทุน ทั้งการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศ RCEP และดึงดูดให้มีการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม RCEP อีกด้วย
ในอนาคต ไทยอาจอาศัยการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน โดยย้ายฐานการผลิตที่ต้องใช้แรงงานไปยังประเทศเหล่านี้ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตสินค้าจากแรงงานทักษะสูงภายในประเทศแทน
แหล่งข้อมูล: ประชาชาติธุรกิจ