ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน จีนเร่งผลิต พร้อมแนวทางแก้ไขจากภาครัฐ
20 เมษายน 2564
ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทั่วโลก ยืดเยื้อมาตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ทั้งยังตอกย้ำด้วยวิกฤติเรือ Ever Given ของสายการเดินเรือ Evergreen เกยตื้นขวางคลองสุเอซ ส่งผลให้การขนส่งหยุดชะงัก เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล
นับเป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดจากหลายวิกฤติการณ์รวมกัน เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของวงการค้าและการขนส่ง เมื่อ 80% ของการขนส่งทั่วโลกเป็นการขนส่งสินค้าทางเรือ เนื่องจากเป็นรูปแบบการขนส่งที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่กลับกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นทุกทีและมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปลายปี 2564
สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโรค COVID-19 ในแต่ละประเทศ ส่งผลให้มีมาตรการที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แรงงานขาดแคลน ตลอดจนความต้องการสินค้านำเข้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีมากกว่าการส่งออก จึงเกิดการตกค้างของตู้คอนเทนเนอร์เปล่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จากการแบกรับค่าขนส่งตู้เปล่ากลับมายังประเทศต้นทาง
และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุเรือขนส่งสินค้า Ever Given ซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 TEUs เกยตื้นขวางคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญ (เป็นเส้นทางเดินเรือจากทวีปยุโรปไปยังทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออกที่สั้นที่สุด) ทำให้เพิ่มระยะเวลารอคอยในการขนส่งสินค้าให้ยาวนานออกไปอีกนับสัปดาห์ เกิดความเสียหายไปทั่วโลกมูลค่ามหาศาล ตอกย้ำการรอคอยตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นปัญหาดั้งเดิมอยู่แล้ว ให้ย่ำแย่ลงไปอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐของแต่ละประเทศ ก็ได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ที่เริ่มผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 และขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 111.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่ก่อนหน้านั้นได้มีการหยุดผลิตไป) ทำให้ในเส้นทาง East-West ในอนาคตมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ในส่วนของภาครัฐของประเทศไทยก็ได้ออกมาตรการในการแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีแนวทาง ดังนี้
- ให้ท่าเรือกรุงเทพปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนเงิน 5.28 ล้านบาท
- ให้ท่าเรือแหลมฉบังชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นเงิน 384 ล้านบาท รวม 2 รายการเป็นเงินทั้งสิ้น 389.28 ล้านบาท
เนื่องจากประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ปีก่อน (พ.ศ.2563) จึงต้องรีบเร่งประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินการและประโยชน์ที่ผู้ประกอบการส่งออกรายย่อยได้รับ รวมทั้งให้หาข้อสรุปแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการโดยการท่าเรือได้เสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อให้ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
แหล่งข้อมูล: