บทความที่เป็นประโยชน์

เงินบาทแข็ง กระทบส่งออกไตรมาส 4 รับออร์เดอร์ยาก ฉุดส่งออกสินค้าเกษตร

27 สิงหาคม 2567

ส่งออกสินค้าเกษตร เงินบาทแข็ง

ค่าเงินบาทของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแรงในช่วงไม่กี่เดือนล่าสุด โดยมีค่าแข็งค่าขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในตลาดการเงินการแข็งค่าของเงินบาทนี้สอดคล้องกับการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคอื่นๆแต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและแรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทยอย่างมาก.

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 ส.ค.2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง
ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี โดย กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวตามที่คาดการณ์ และได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกกำลังฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป แม้การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อ หลังการประกาศผลการประชุม กนง.ช่วงบ่าย 21 ส.ค.2567 “เงินบาท” เคลื่อนไหว “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” อยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์  และปิดตลาดที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับอ่อนค่าสูงสุดของวัน และมีระดับแข็งค่าสูงสุดของวันในช่วงเช้าที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 13 เดือน (นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค.2566)  ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 ค่าเงินบาท  (YTD) “อ่อนลง” เพียง 0.2% โดย กนง.ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์ในช่วงหลัง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวลงตามทิศทางของสหรัฐ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หากเทียบกับโลกถือว่าอยู่ในคาดการณ์หรือสอดคล้องกับ ก่อนหน้าเงินบาทถือว่าอ่อนค่า โดยใกล้เคียงระดับ
36 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น หากเทียบตั้งแต่ต้นปี ถือว่าเงินบาทปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การที่เห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากการที่ตลาดมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีปัจจัยเฉพาะของไทยบ้าง เช่น จากการที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งออกทองคำค่อนข้างมาก และ 2-3 วันที่ผ่านมา จากความชัดเจนจากรัฐบาล ทำให้ภาพรวมดูมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นภาพรวมถือว่าเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าง และมีเหตุมีผลห่วงกระทบส่งออกไตรมาส 4

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.มีความกังวลต่อ
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่ามาอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าเร็ว และแรงเกินเมื่อเทียบกับค่าเงินในเดือน ก.ค.เคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นมาถึง 2 บาท 

ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 2% ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าจากภายนอกประเทศ มีเพียง "เงินบาท" ที่อ่อนค่าเป็นจุดแข็งให้การส่งออกไทยเติบโตได้ถึง 2%

นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าลักษณะนี้ต่อเนื่องน่าเป็นห่วงการส่งออกในครึ่งปีหลัง เพราะปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกยังคงอยู่โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยทำได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกที่การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวถึง 20%รวมทั้งหากค่าเงินบาทช่วงครึ่งปีหลังแข็งแบบนี้เป็นจุดที่อ่อนไหว สำหรับการส่งออกไทย เพราะสินค้าเกษตรจะไม่ใช่สินค้า "พระเอก" ที่จะประคับประคองการส่งออกของไทยในช่วงถัดจากนี้ไป โดยจะเห็นผลกระทบชัดเจนได้ในไตรมาส 4 เพราะในไตรมาส 3 ผ่านพ้นไปแล้ว

“ไตรมาส 4 น่าเป็นห่วงเพราะจุดแข็งจุดเดียวของไทยคือ เงินบาทอ่อน ซึ่งจากนี้คงไม่ใช่อีกแล้ว โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมไม่แข็งค่าเกินไปหรือไม่อ่อนค่าเกินไป ควรจะต้องรักษาระดับให้อยู่ประมาณ
35-36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ ค่าเงินบาทแข็งเร็วลงไปถึง 32 บาทต่อดอลลาร์
ก็สงผลกระทบเเก่ผู้ส่งออกมาแล้ว”

นายชัยชาญ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทควรเคลื่อนไหวไปตามคู่แข่ง และอย่าให้เคลื่อนไหวเร็ว สถานการณ์ในปัจจุบันแบบนี้ถือว่าเคลื่อนไหวเร็วมาก เพราะการส่งออกเมื่อส่งออกสินค้าก็ต้องมีการคำนวณราคาขาย เพราะกว่าจะได้เงินกลับมาจะมีระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องแบกรับความเสี่ยงในส่วนนี้ ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องระมัดระวังในการรับคำสั่งซื้อที่จะส่งมอบในอีก 3 เดือน ข้างหน้า และหากสถานการณ์เป็นแบบนี้ผู้ส่งออกจะต้องทำประกันความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนที่จะให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องค่าเงินบาทนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยมีการบริหารเงินบาทโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะไทยเคยมีบทเรียนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามขอให้ ธปท.มีมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระดับที่เอื้อต่อการส่งออกหรือไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้า และคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการให้ความรู้ในทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการและเครื่องมือทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันแข็งค่าต่อเนื่อง โดยมีจุดแข็งค่าสุดของวันอยู่ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่ ก.ค.ปี 66 โดยการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทเริ่มเห็นตั้งแต่ ก.ค.- ส.ค.ที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว

ส่วนใหญ่มาจากการที่นักลงทุนมองว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในช่วงการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้
ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าหากเทียบกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค

อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากแข็งค่าตามค่าเงินดอลลาร์ที่มีเซนทิเมนต์อ่อนค่าลง ยังมาจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวทำสถิติสูงสุดใหม่ (ออลไทม์ไฮ) ต่อเนื่อง ที่มีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าด้วย นอกจากนี้ยังมาจากเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติที่กลับมาซื้อบอนด์ต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดต่างชาติ   เหลือขายสุทธิเพียง 1.49 หมื่นล้านบาท หากเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จากเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดบอนด์มากที่สุดคือ
7.7 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับมุมมองค่าเงินบาท โดยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในสิ้นปีอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จาก 36.00 บาทต่อดอลลาร์

ที่มาข้อมูล : Bangkokbiznews

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ