การค้าฟื้นตัว ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง พาณิชย์ผลักดัน แผนการค้าชายแดน-ผ่านแดน
8 มกราคม 2567
ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ถือเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวมของไทย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 139,695 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 70,042 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 69,653 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งสิ้น 389 ล้านบาท การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา) เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 74,778 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 46,223 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 28,555 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 17,667 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล 3,284 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 1,417 ล้านบาท และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ 1,301 ล้านบาทการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่ารวม 64,917 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 23,820 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 41,098 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนที่สำคัญ ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 3,208 ล้านบาท
ยาง T.S.N.R. 2,876 ล้านบาท และทุเรียนสด 2,208 ล้านบาท
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า การค้าขายแดนในเดือนตุลาคม 2566 หดตัวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว ที่อัตราเงินเฟ้อสูงและค่าเงินกีบยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ซึ่งมากกว่า 80% เป็นการค้าชายแดน โดยการส่งออกชายแดนไป สปป.ลาว และเมียนมา หดตัว 14.5% และ 9.9% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัว 9.0% ซึ่งขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ทุเรียนสด 2,206 ล้านบาท
(+162.8%) ไม้แปรรูป 1,990 ล้านบาท (+131.7%) และยาง T.S.N.R. 1,476 ล้านบาท (+48.7%)
กระทรวงพาณิชย์จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในปี 2570
โดย วาง 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดน ประกอบด้วย
1.พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
2.ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน
3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน
แต่ละยุทธศาสตร์ย่อย
โดยแผนการดำเนินการที่วางไว้เบื้องต้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบด้วย การยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ , จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเร่งเจรจากับฝ่ายเมียนมารับรองผลการสำรวจเขตแดนร่วม (Joint Detail Survey: JDS) ของด่านสิงขร และเร่งจัดทำ JDS ของด่านบ้านห้วยต้นนุ่น และ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี จ.จันทบุรี ซึ่งล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แก้ไขข้อจำกัดต่างๆให้เดินหน้าได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 จ.ตาก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจุดเอกซเรย์ด้านนอก และแขวงทางหลวงตากที่ 2 (แม่สอด) ได้กำหนดจุดจอดตรวจสอบเอกสารและตอนนี้ทางด่านได้เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ 6 โมงเช้าเป็นต้นไป
เพื่อบรรเทาความแออัด เร่งผลักดันเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ของประเทศเพื่อนบ้าน
ได้มีการเอาระบบ digital มาช่วย แต่ยังมีบางประเทศที่ยังติดขัด โดยได้รับการแก้ไขแล้ว 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเมียนมา ที่เหลืออยู่คือฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข พร้อมกันนี้ให้เร่งตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ในจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงจำนวน 10 จังหวัด มีความพร้อมจัดตั้งได้ทันที 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด และสงขลา และมีความพร้อมดำเนินการจัดตั้งได้ภายใน 3 เดือน 4 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี นครพนม และมุกดาหาร ส่วนจังหวัดจันทบุรีอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และจังหวัดสระแก้วอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารศุลกากรบ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท คาดว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ OSS ใน 2 จังหวัดดังกล่าวได้ในปี 2568 ส่วนการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติมนั้นจากปัจจุบันมีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 86 แห่ง จากทั้งหมด 95 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 73 แห่ง
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำถึงการทำงานว่า ให้ภาคเอกชนเป็นทัพหน้าเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม รู้และเข้าใจปัญหาโดยรวม ส่วนรัฐจะเป็น
ผู้สนับสนุนคอยแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์การค้าชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดนให้ฟื้นตัวกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ทำให้เพิ่มตัวเลขการส่งออกไทยได้อีกทางหนึ่ง
ที่มาแหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ, มติชน
--------------------------
ติดต่อสอบถามบริการ BTL
02-681-2005ถึง9
www.bkkterminal.com
m.me/BangkokTerminalLogistics