สะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งใหม่ เชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ ภายในปี 2568
31 ตุลาคม 2566
สะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งใหม่
วันที่ 9 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขึ้นรถไฟขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ ขบวนพิเศษที่ 931 จากสถานีรถไฟอุดรธานี ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย
โดยในขบวนมีคณะรัฐมนตรี ภาคเอกชนอุดรธานี ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมโดยสารไปด้วย ระหว่างทางได้พูดคุยกันในประเด็น
เรื่องการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งภาคเอกชนจังหวัดอุดรธานี ได้ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพราะจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ มีความสะดวกยิ่งขึ้น
รวมทั้งรองรับการเป็นเจ้าภาพโครงการพืชสวนโลก ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปที่ตลาดร่มเขียว ตลาดพืชผลทางการเกษตรปลอดภัย จ.อุดรธานี และได้พูดคุยกับเกษตรกร และประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอย โดยมีการพูดคุยถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
เดิมว่าสะพานสามารถรับการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางรถยนต์และรถไฟได้ แต่การคมนาคมทั้งสองรูปแบบไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน ต้องสลับกัน ก่อให้เกิดความล่าช้า
จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางในเส้นทางรถไฟ
โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมได้เดินทางไปยัง สปป.ลาว เพื่อศึกษาเส้นทางขนส่งสินค้าไทย โดยใช้รถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว โดยได้หารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์
พบว่าเส้นทางรถไฟดังกล่าว เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปทำตลาดในจีน เพราะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งอย่างมาก เหลือเพียงไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากการขนส่งทางบก 2 วัน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งกรอบอาเซียน-จีน และหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ส่งออกผลไม้ไปจีน “นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการเมื่อเดือน ธ.ค.64 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก
โดยเฉพาะส่งออกผ่านด่านหนองคายอยู่ที่ 90.41 ล้านบาทในปี 2564 เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565”
โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมากที่สุด ในช่วง (ม.ค.- พ.ค. 2566 ) มีดังนี้
- ทุเรียนสด มูลค่า 2,073.18 ล้านบาท เทียบช่วงกันของปี 65 ที่ 446 ล้านบาท
- มังคุดสด 378.65 ล้านบาท เทียบกับช่วงกันของปี 65 ที่ 52 ล้านบาท
- หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท
- ลำไยสด 37.40 ล้านบาท
- สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่นๆ 17.89 ล้านบาท
- สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท
- ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท
- สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท
- มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท
- ผลไม้อื่นๆ 1.52 ล้านบาท.
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และการหารือเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ
โดยทางด้านการค้า นายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว กับภาคอีสานของไทย ให้เป็น Growth Area ที่เกื้อกูลกัน พร้อมเห็นควรร่วมกันหาแนวทางลดอุปสรรคและเร่งอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศจาก Land-locked เป็น Land-linked และพร้อมสานต่อการทำงานร่วมกับฝ่าย สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่าง
2 ประเทศ
ในส่วนความเชื่อมโยงทางระบบราง นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการหารือรายละเอียดเพื่อเริ่มก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟข้ามแม่น้ำโขง (หนองคาย-เวียงจันทน์) โดยไทยพร้อมสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการจัดทำกรอบความตกลง (Technical Arrangement) เพื่อเริ่มเดินรถไฟระหว่างสถานีท่านาแล้งมาถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ได้ในต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
สำหรับความเชื่อมโยงทางถนนและสะพาน นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่หลายโครงการมีความคืบหน้า ทั้งโครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์
โครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในหลักการแล้ว รวมถึงโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 12 (นครพนม/ท่าแขก แขวงคำม่วน-นาเพ้า แขวงบอลิคำไซ/จาลอ จังหวัดกว่างบิงห์ เวียดนาม) เพื่อช่วยส่งเสริมการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวเส้นทางนี้ด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านรางนั้น ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งทั้งนี้
ฝ่ายลาวรับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกัน โดยขอให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการ (Handling Charge) ที่ชัดเจน และแน่นอนในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่เวียงจันทน์
(Vientiane Logistic Park-VLP)
เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า การค้าขายทางระบบรางจะเพิ่มขึ้น ในด้านถนนนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายลาวพิจารณาให้รถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ของไทยขนส่งสินค้าเข้าไปใน สปป.ลาวได้เหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ด้านพิธีการศุลกากร นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการจัดตั้ง Common Control Area (CCA) ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และเห็นพ้องเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว และเมียนมา) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ไทยมีแผนสนับสนุน สปป.ลาว ในการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่า (Fire Risk Map) และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่ายจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
นายกรัฐมนตรีสนใจซื้อพลังงานสะอาดจากลาวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ขยายตัว หลังจากเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารสำคัญ และส่งมอบโครงการต่าง ๆ ดังนี้
- พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว
- พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสำหรับการให้ความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการฝึกพนักงานขับรถไฟและพนักงานจำหน่ายตั๋ว และการจัดทำแผนธุรกิจให้กับรถไฟแห่งชาติลาว (Record of Discussions between NEDA and Lao National Railway for the Technical Assistance for the Capacity Building for Locomotive Driving and Ticketing System and Development of a Business Model for the Lao National Railway)
- พิธีส่งมอบสวนรุกขชาติมิตรภาพเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตราชอาณาจักรไทย-สปป.ลาว
- พิธีส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสม แขวงอัตตะปือ
ที่มาแหล่งข้อมูล : BTL
---------------------------
https://www.thaipbs.or.th/news/content/331468
ติดต่อสอบถามบริการ BTL
02-681-2005 ถึง 9
www.bkkterminal.com
m.me/BangkokTerminalLogistics